วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม


ความหมายของสิ่งแวดล้อม (Environment)
สิ่งแวดล้อม (Environment)คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นรูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ
สิ่งแวดล้อม (Environment)คือ สิ่งแวดล้อมหมายถึง สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้นอยู่รอบๆตัวเราทั้งที่มี ลักษณะกายภาพที่เห็นได้และไม่สามารถเห็น
UNESCOได้ให้คำจำกัดความของสิ่งแวดล้อมเอาไว้ว่า สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคมของมนุษย์ด้วย


ประเภทของสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ (เกษม จันทร์แก้ว,2525 อ้างถึงใน กนก จันทร์ทอง, 2539)
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
2. สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น


สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ สัตว์ป่า ฯลฯ สิ่งแวดล้อมประเภทนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอาจใช้เวลาเร็วหรือช้าเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดและประเภท
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. สิ่งมีชีวิต (Biotic Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ มีลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะตัวของสิ่งมีชีวิตเช่น พืช สัตว์และมนุษย์เราอาจจะเรียกว่าสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ (Biological Environment) ก็ได้


2. สิ่งไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต อาจจะมองเห็นหรือไม่ก็ได้ เช่น ดิน น้ำ ก๊าซ อากาศ ควัน แร่ธาตุ เมฆ รังสีความร้อน เสียง ฯลฯ เราอาจเรียกว่า สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) ได้เช่นกัน

สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Make Environment) เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับการสั่งสอน สืบทอด และพัฒนากันมาตลอด ซึ่ง ได้แบ่งไว้ 2 ประเภทคือ

1. สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ หรือสิ่งแวดล้อมที่สามารถมองเห็นได้ เช่น บ้านเรือน เครื่องบิน โทรทัศน์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก หรือตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิต บางอย่างอาจมีความจำเป็น แต่บางอย่างเป็นเพียงสิ่งฟุ่มเฟือย
2. สิ่งแวดล้อมทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม (Social Environment) หรือ ( Abstract Environment) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบสำหรับอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สิ่งแวดล้อมทางสังคมได้แก่ระบอบการปกครอง ศาสนา การศึกษา อาชีพ ความเชื่อ เจตคติ กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ระเบียบข้อบังคับ ฯลฯ สิ่งแวดล้อมที่มองไม่เห็นจะแสดงออกมาในรูปพฤติกรรม


ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสิ่งมีชีวิต

ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ก็ล้วนก็ให้เกิดประโยชน์และโทษต่อสิ่งมีชีวิตได้ทั้งสิ้น ความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ที่มีต่อสิ่งมีชีวิต (ชัชพล ทรงสุนทรวงศ์,2546)


1. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น เช่น น้ำ ใช้เพื่อการบริโภคและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ อากาศ ใช้เพื่อการหายใจของมนุษย์และสัตว์ ดิน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตบนบก แสงแดดให้ความร้อนและช่วยในการสังเคราะห์แสงของพืช

2. สิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ จะช่วยปรับให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของมันได้ เช่นช่วยให้ปลาอาศัยอยู่ในน้ำที่ลึกมาก ๆ ได้ ช่วยให้ต้นกระบองเพชรดำรงชีวิตอยู่ในทะเลทรายได้

3. สิ่งมีชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม เช่น มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่

4. สิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามการกระทำของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น เช่น เมื่อสัตว์กินพืชมีจำนวนมากเกินไปพืชจะลด จำนวนลง อาหารและที่อยู่อาศัยจะขาดแคลน เกิดการแก่งแย่งกันสูงขึ้น ทำให้สัตว์บางส่วนตายหรือลดจำนวนลงระบบนิเวศก็จะ กลับเข้าสู่ภาวะสมดุลอีกครั้งหนึ่ง

5. สิ่งแวดล้อมจะกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม ในแง่ของการถ่ายทอพลังงาน ระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย ในแง่ของการอยู่ร่วมกัน เกื้อกูลกัน หรือเบียดเบียนกันมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม ได้มากมาย ในลักษณะที่แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น ใช้ประโยชน์จากดินเพื่อการเพาะปลูก ใช้ประโยชน์จากทุ่งหญ้าเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ใช้ประโยชน์จากเหมืองแร่เพื่อการอุตสาหกรรม


ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
โดยหลักการทางนิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม คือสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาทั้งโดยตรงและทางอ้อม มนุษย์ไม่สามารถหลบหนีพ้นจากสภาพสิ่งแวดล้อมได้ มนุษย์บางคนไม่อยากเผชิญกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพแต่ต้องมาเผชิญกับสิ่งแวดล้อมทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ขณะเดียวกันมนุษย์บางคนไม่อยากอยู่รวมกับสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ด้วยกันสร้างขึ้นมาก็อาจจะหนีไปอาศัยอยู่กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ดังนั้นมนุษย์จึงมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา
สิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อม โดยปกติมนุษย์จะอยู่โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ มนุษย์จะต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลาเพราะมนุษย์จำเป็นที่จะต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต

การเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์มี 5 รูปแบบ คือ
1. การใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม เป็นความสัมพันธ์โดยบทบาทหน้าที่ มนุษย์อาศัยธรรมชาติสิ่ง แวดล้อมจึงมีชีวิตอยู่รอดได้เช่น ได้รับอากาศหายใจ มีน้ำสะอาดให้อุปโภค บริโภคและในการเพาะปลูกรวมทั้งได้รับประโยชน์นานับประการจากสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมทางสังคม มนุษย์ได้รับประโยชน์อย่างมากจากสังคม เช่น การรู้จักบทบาทหน้าที่ รู้จักการคิดสร้างสรรค์ การมีชีวิตอยู่รอด รวมทั้งการพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ
ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นการพึ่งพาอาศัยสิ่งแวดล้อม คือ ถ้าสิ่งแวดล้อมดีอยู่ในภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต มนุษย์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้สะดวกสบาย และพัฒนาตนเองในทิศทางที่สูงขึ้น แต่หากสิ่งแวดล้อมไม่ดีจะด้วยการกระทำของมนุษย์ หรือสภาพวิปริตของตัวธรรมชาติ หรือความแปรปรวนของธรรมชาติ มนุษย์ก็ไม่อาจจะดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
2.การพยายามทำตนให้กลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ในเชิงที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม คือ พยายามทำตนให้ประสานสอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่พยายามฝืนกฎธรรมชาติ ความสัมพันธ์แบบนี้จะดำเนินไปได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความเข้าใจถึงระบบสิ่งแวดล้อมว่ามีบทบาทอย่างไร มีส่วนช่วยให้มนุษย์อยู่รอดได้อย่างไร การที่มนุษย์จะเข้าใจได้ก็ด้วยการสังเกตและการศึกษา ในเรื่องของสังคม ต้องเข้าใจว่าระบบสังคม เป็นระบบพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ใช่ระบบเอาเปรียบหรือการสะสมส่วนเกินที่ไม่จำเป็น มนุษย์รู้จักสร้างความสมดุลระหว่างกัน คือ การไม่กดขี่บังคับเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อสิทธิ เพื่อความมีอำนาจเหนือมนุษย์คนอื่น

3. การพยายามเปลี่ยนแปลงวิถีตามธรรมชาติให้เป็นไปตามวิถีความต้องการของมนุษย์ ความสัมพันธ์แบบนี้ มนุษย์พยายามเอาชนะธรรมชาติโดยการบังคับวิถีของธรรมชาติ ให้สนองความต้องการของตนให้มากที่สุด เช่น การสร้างเขื่อน เพื่อใช้พลังน้ำมาขับเคลื่อนเครื่องให้เกิดกระแสไฟฟ้า
การที่มนุษย์พยายามเอาชนะเหนือธรรมชาติทำให้ค้นคว้าหาวิธีต่างๆ ในที่สุดก็เกิดการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นเพื่อนำมาใช้กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มนุษย์ พยายามเอาชนะเหนือธรรมชาติ เช่น การสร้างเครื่องปรับอากาศเพื่อเอาชนะความร้อนและหนาว การผลิตไฟฟ้าเพื่อให้เกิดแสงสว่างในเวลากลางคืน เป็นต้น
4. การพยามพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ให้มีความเจริญอกงามมากยิ่งขึ้น โดยไม่เป็นผลเสียต่อระบบรวมของสิ่งแวดล้อม ข้อนี้มีลักษณะคล้ายกับแบบที่ ๒ แต่ มีข้อแตกต่างกันตรงจะจุดเน้นการพัฒนา คือไม่ได้ปล่อยให้ระบบสิ่งแวดล้อมดำเนินวิวัฒนาการไปตามธรรมชาติของมัน แต่มนุษย์จะเข้าไปปรับสภาพธรรมชาตินั้น ๆ โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและสังคมให้มีความเจริญงอกงามและดียิ่งขึ้นกว่าสภาพเดิม
5. ความสัมพันธ์ในรูปของการทำลายสภาพเดิมของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้กลับกลายเป็นสภาพใหม่หรือสูญเสียไป ความสัมพันธ์แบบที่ 5 นี้ มนุษย์พยายามทำลายล้างระบบสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว โดยพยายามสร้างระบบสิ่งแวดล้อมใหม่ขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ
5.1 มนุษย์มองเห็นว่าระบบสิ่งแวดล้อมเดิมไม่มีประโยชน์ เช่น สภาพอากาศแห้งแล้ง ภูมิประเทศทุรกันดาร ไม่อุดมสมบูรณ์ แล้วทำการปฏิวัติปรับปรุงใหม่ให้เกิดความอุดมบูรณ์ หรือมองเห็นว่าสังคมเดิมไม่ดี มีปัญหาความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่มวลสมาชิก เช่น ปัญหาโจรผู้ร้าย ความยากจน โรคภัยไข้เจ็บ และความไร้ระเบียบต่างๆ จึงมีการปฏิรูปสังคม ปฏิวัติขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ แบบเดิม
5.2 มนุษย์มองเห็นว่าระบบสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ สังคมส่วนรวมปกติสุข เมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นเช่นนี้ บางทีก็ทำให้มนุษย์บางกลุ่มเกิดความละโมบ กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้เสพสุขกับทรัพยากรธรรมชาติ และระบบสังคมที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อไป จึงทำการกอบโกยกักตุน กักกันและสร้างอภิสิทธิ์ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันมีอยู่ในธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียวจนทรัพยากรธรรมชาตินั้นค่อยๆ สูญสิ้นไป
จะเห็นได้ว่าการที่มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติตามข้อ 2 และ 4 จะก่อให้เกิดปัญหาทางธรรมชาติน้อยที่สุด ส่วนข้อ 1, 3 และ 5 เป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่อาจทำอันตรายกับธรรมชาติอย่างใหญ่หลวงได้
การเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติจะต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถูกต้องตามสัจจธรรมที่แท้จริง เพราะหากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแรงกิเลส ที่มีตัวตัณหาความเห็นแก่ตัวเป็นแรงผลักดันประกอบด้วยมานะและทิฏฐิที่ผิดแล้ว ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาในระบบสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติขึ้นอย่างมหาศาลได้ ซึ่งท้ายสุดมนุษย์ก็ไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้หากเราสูญเสียความสมดุลย์ทางธรรมชาติไปอย่างสิ้นเชิง


2 ความคิดเห็น: