วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การบริหาร

ความหมายของการบริหาร
การบริหาร (Administration) เป็นคำที่ใช้ในความหมายที่กว้างๆ อันหมายถึงการบริหารรัฐกิจและธุรกิจ ซึ่งการบริหาร (Administration) มักจะใช้กับการบริหารรัฐกิจ สำหรับการบริหารธุรกิจนั้น นิยมใช้คำว่า การจัดการ (Management) มากกว่า


ความหมายของการบริหาร (Administration) นักวิชาการให้ความหมายต่างๆกัน ดังนี้
· Peter F. Drucker : การบริหาร คือ ศิลปะในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับผู้อื่น
· Harold koontz : การบริหาร คือ การดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยการอาศัยคน เงิน วัตถุสิ่งของเป็นปัจจัยในการปฏิบัติงาน
· Herbert A. Simon : การบริหาร คือ กิจกรรมที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมมือกันดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน
· Emest Dale : การบริหาร คือ กระบวนการจัดองค์การและการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
· วิจิตร ศรีสะอ้านและคณะ ได้สรุปสาระสำคัญของการบริหารไว้ดังนี้
1. การบริหารเป็นกิจกรรมของกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. มีวัตถุประสงค์เดียวกัน
3. ร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กลุ่มตั้งไว้
4. มีการใช้กระบวนการ และทรัพยากรที่เหมาะสม
สรุปได้ว่า การบริหาร หมายถึง การใช้ศาสตร์และศิลป์ของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมหรืองานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ร่วมกัน โดยอาศัยกระบวนการ และทรัพยากรทางการบริหารเป็นปัจจัยอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วิวัฒนาการทางการบริหาร
การบริหารเริ่มมีความหมายชัดเจนและรัดกุมขึ้นในศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีนักวิชาการและนักบริหารให้ความสนใจในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้การแบ่งยุคของวิวัฒนาการทางการบริหารมีความหลากหลาย ดังนี้
อรุณ รักธรรม ได้แบ่งยุคของการบริหารเป็น 3 ยุค คือ
1.ระยะเริ่มต้น เป็นระยะของการปูพื้นฐานและโครงสร้าง บุคคลสำคัญในระยะนี้ ได้แก่ Woodrow Wilson, Leonard D. White, Frank T. Goodnow, Max Weber, Frederick W. Taylor และ Henry Fayol เป็นต้น
2.ระยะกลางหรือระยะพฤติกรรมและภาวะแวดล้อม ผู้มีชื่อเสียงในระยะนี้ ได้แก่ Elton Mayo, Chester I. Barnard เป็นต้น
3.ระยะที่สาม หรือระยะปัจจุบัน มี Herbert A. Simon และ Jame G. March เป็นผู้วางรากฐาน

ดร.นิพนธ์ กินาวงศ์ ได้แบ่งยุคของการบริหารไว้ในหนังสือเรื่องหลักบริหารการศึกษา ดังนี้
ยุคที่ 1 ยุควิทยาศาสตร์ (Scientific Management) (ค.ศ. 1910 – 1935)

ยุคที่ 2 ยุคมนุษยสัมพันธ์ (Human Relations) (ค.ศ. 1930 – 1950)
ยุคที่ 3 ยุคพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) (ค.ศ. 1950 – 1970)
ยุคที่ 4 ยุคการบริหารเชิงระบบ (Systems Approach) (ค.ศ. 1970 – ปัจจุบัน)

ดังนั้นจึงสามารถสรุป วิวัฒนาการของการบริหาร ได้ดังนี้
ยุคที่ 1 ระหว่างก่อนการคิดค้นการบริหารที่มีหลักเกณฑ์(Prescientific Management) เริ่มตั้งแต่คนรู้จักรวมกำลังทำงาน – ปี ค.ศ.1880
· คนงานอยู่ภายใต้อำนาจของหัวหน้าผู้ควบคุมหรือเจ้านายโดยสิ้นเชิง
· ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นแบบเผด็จการ มีเจ้าขุนมูลนาย มีเจ้านานมีบ่าว มีจักรวรรดิ และทาส
· คนถูกจำกัดฐานะ ขาดทั้งโอกาสและทางเลือก
· ขาดข้อมูลและขาดการติดต่อสื่อสารจากภายนอก
ยุคที่ 2 การบริหารที่มีหลักเกณฑ์ (Scientific Management) หรือเรียกว่า “การจัดการแบบวิทยาศาสตร์” เป็นยุคที่มุ่งงานมากกว่าคน
เป็นยุคของ Frederic W Talor (1910) วิศวกรชาวอเมริกัน ผู้ที่ถือว่าเป็น “บิดาแห่งการบริหารเชิงวิทยาศาสตร์” ประกาศแนวคิดสำคัญ 4 ประการ ในการบริหารงานเชิงวิทยาศาสตร์ ได้แก่ 1. One best way (หาวิธีที่ดีที่สุด) 2. Put the right man to the right job (จัดคนให้เหมาะกับงาน) 3. Equal work, Equal pay (งานเท่ากัน เงินเท่ากัน) 4. Specification and Division of work (เน้นความชำนาญ และการแบ่งงานกันทำ)
ยุคที่ 3 มนุษย์สัมพันธ์ (Human Relation) ค.ศ.1930-1950
ยุคนี้ - เน้นถึง การสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีภายในองค์การ ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงาน
และแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งภายในองค์การได้
- เน้นคน ถือว่าคนเป็นสิ่งมีชีวิตจิตใจ คนมีความต้องการทางด้านจิตใจ (ต้องการการยอมรับ
จากเพื่อนร่วมงาน ชื่อเสียง เกียรติยศ ยกย่อง ชมเชย) และคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด
ขององค์การ
- การบริหารที่มีประสิทธิภาพในยุคมนุษย์สัมพันธ์ คือ การรู้จักชักนำ ชักจูง ให้คนทำงานด้วย
ความเต็มใจ
- ยุคนี้ไม่คิดว่าคนเปรียบเสมือนเครื่องจักรกล
ยุคที่ 4 ยุคของการปรับปรุงคิดค้นขยายความและรวบรวมเพื่อหาข้อสรุป (ค.ศ.1950-ปัจจุบัน)
ยุคนี้ผู้บริหารที่มีความสามารถจะให้ความสำคัญกับคนและงานไปพร้อมๆกันและเท่าๆกัน


แนวคิดการบริหาร

1.แนวความคิดการบริหาร/การจัดการสมัยเดิม หรือการจัดการที่มีหลักเกณฑ์ (Scientific Management)
แนวความคิดการบริหารที่มีหลักเกณฑ์ ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดย Frederick W. Taylor "บิดาแห่งการจัดการที่มีหลักเกณฑ์" ซึ่งเป็นผู้ต้นคิดสำคัญในการวางหลักการ และทฤษฎีการจัดการที่ถูกต้องขึ้นเป็นครั้งแรก จากการศึกษาวิธีการปฏิบัติงานด้านการผลิตในระดับโรงงานเป็นครั้งแรกนั้น Taylor ได้ประกาศใช้หลักการต่าง ๆ (principles) ที่เขาใช้ในการปฏิบัติงานหรือที่เรียกว่า "การจัดการที่มีหลักเกณฑ์" (scientific management)
นอกจาก Taylor แล้ว นักวิทยาศาสตร์ที่มีแนวคิดนี้ ยังมี
· Henry Gantt : Gantt’s Chart และการประกันค่าจ้างต่ำสุด
· Frank Bunker Gilberth And Lillian Moller Gilbert : Therblig Motion และ Motion study
· Harrington Emerson : The twelve Principle of efficiency

2.แนวคิดแบบมนุษย์สัมพันธ์
· การบริหาร/การจัดการแบบมนุษย์สัมพันธ์ (Human relations) เหตุที่แรงงานได้รับความสนใจมากขึ้น ทำให้ความสนใจที่จะเข้าใจในตัวคนงานและความต้องการต่าง ๆ ของคนงานมีมากขึ้นเป็นพิเศษ และทำให้เกิดเรื่องราวของมนุษย์สัมพันธ์ขึ้นมา โดยเฉพาะจากโครงการศึกษาที่โรงงาน “Hawthrone” โดย Elton Mayo

· การบริหาร/การจัดการแบบพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral sciences) เป็นการศึกษาการจัดการองค์การในแนวใหม่ ฉะนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า ทฤษฎีคลาสสิกใหม่ (New classical Theory) การศึกษาเชิงพฤติกรรมให้ข้อคิดเห็นว่า ความต้องการทางอารมณ์และร่างกายของมนุษย์ประกอบเป็นพื้นฐานขององค์การ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เองจากการรวมตัวของมนุษย์ ซึ่งมีความต้องการผลประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ร่วมกัน

3.แนวความคิดการบริหาร/การจัดการสมัยใหม่
· การบริหาร/การจัดการแบบการตัดสินใจ(Decision Approach) ในการพิจารณาองค์การและการจัดการนั้นกระบวนการตัดสินใจนับเป็นสิ่งสำคัญของผู้บริหาร ดังที่ เฮอร์เบิร์ท เอ ไซมอน (Herbert A. Simon) ได้ระบุไว้ว่า "การตัดสินใจ" กับ "การจัดการ" เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ ที่กล่าวเช่นนี้หมายความว่า การจัดการคือ การตัดสินใจนั่นเอง ดังนั้นผู้บริหารทั้งหลายจึงไม่สามารถจะหลีกหนีจากเรื่องของการตัดสินใจได้
· วิธีการบริหารตามสถานการณ์ (Contigency or Situational Approach) เป็นวิธีวิเคราะห์ในระดับที่ถูกต้องเหมาะสม ที่สามารถพิจารณาปัญหาได้ดี ไม่กว้างเกินไปหรือเฉพาะจุดเกินไป หากแต่จะเป็นการวิเคราะห์ที่ดีที่สุดที่มีความสมดุลในระหว่างหลาย ๆ อย่างที่กระทำได้ คือ สามารถพิจารณาปัญหาได้ชัดแจ้งและง่าย (simplistic) สามารถใช้หลักทฤษฎีต่าง ๆ ได้ถูกต้อง (specific principles) และยังสามารถพิจารณาถึงสิ่งต่างๆที่ยุ่งยากสับสนและไม่ชัดแจ้งได้พร้อมกันอีกด้วย จุดมุ่งหมายของวิธีการตามสถานการณ์นั้นก็คือ "ตัวสถานการณ์" ซึ่งมีอิทธิพลต่อองค์การมากที่สุด ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และด้วยการมุ่งเน้นถึงความสำคัญของ "การติดตามสถานการณ์" นี้เอง จึงช่วยให้ผู้บริหารเกิดความเข้าใจได้ว่าภายใต้สถานการณ์เฉพาะนั้น ๆ ผู้บริหารควรจะใช้เทคนิคการจัดการอะไร จึงจะทำให้องค์การสามารถบรรลุผลสำเร็จมากที่สุดได้ วิธีการจัดการตามสถานการณ์ จึงเท่ากับเป็นการช่วยย่นเวลาการสร้างสมประสบการณ์ของนักบริหาร ที่เคยต้องค่อย ๆ พิจารณานำเอาหลักการแต่ละอันมาฝึกฝนประยุกต์ใช้อย่างช้า ๆ ให้สามารถคิดวิเคราะห์กับสถานการณ์ได้ในทันที
· แนวความคิดเชิงระบบ (System Approach) มีความเชื่อว่า การจัดการมีลักษณะต่อเนื่องกันและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องพึ่งพาอาศัยซึงกันและกันของหน่วยงานย่อยต่าง ๆ กับส่วนรวมทั้งหมด ความสำเร็จในการจัดการขององค์การขึ้นอยู่กับการจัดการของทุกระบบมิใช่ะบบหนึ่งระบบใด ความสำเร็จในการจัดการขององค์การซึ่งถือว่าเป็นระบบรวม (Total system) ต้องอาศัยความสำเร็จของระบบย่อยทุกระบบ แนวความคิดเชิงระบบนี้ อาจแยกพิจารณาได้เป็น 2 แนวทาง คือ
1. ระบบปิด หรือ ระบบราชการหรือระบบอย่างเป็นทางการหรือระบบเครื่องจักรกล
2. ระบบเปิด หรือระบบเสรีหรือระบบไม่เป็นทางการหรือระบบเพื่อนฝูง
· แนวความคิดเกี่ยวกับกระบวนการ การพิจารณาตามแนวความคิดนี้ก็คือ ผู้บริหารจะปฏิบัติหน้าที่บริหารด้วยวิธีกระทำเป็นทีละขั้นตอน (step by step) ที่ต่อเนื่องหมุนเวียนกันไปอย่างเป็นระเบียบโดยไม่ขาดตอนจากกัน ซึ่งมีกระบวนการ ดังนี้
- การวางแผน
- การจัดองค์การ
- การจัดคนเข้าทำงาน
- การสังการ
- การควบคุม

ทรัพยากรในการบริหาร
ทรัพยากรการบริหารหรือปัจจัยพื้นฐาน (Administrative resources) ที่ใช้ในการบริหาร มี
อยู่ 4 ประการ คือ
1.คน (Man)
2.เงิน ( Money)
3.วัสดุสิ่งของ (Material)
4.วิธีจัดการ (Management)
หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า 4M.s การที่จัดว่าปัจจัยทั้งสี่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการบริหารก็เพราะเหตุว่า ในการบริหารเกือบทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัย คน เงิน วัสดุสิ่งของ และวิธีจัดการเป็นองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าการบริหารนั้นจะเป็นการบริหารราชการหรือการบริหารธุรกิจก็ตาม จำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรพื้นฐานในการบริหารมีอยู่สี่ประการดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบันได้มีการพิจารณาทรัพยากรการบริหารไปในลักษณะที่มีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ถือว่าปัจจัยหรือทรัพยากรการบริหารได้เพิ่มขึ้นจากปัจจัย 4 ประการที่กล่าวมาแล้ว เช่น ศาสตราจารย์William T. Greenwood ได้ให้ความเห็นว่า ทรัพยากรการบริหารควรมีอย่างน้อย 7 ประการคือ คน (Man)เงิน ( Money) วัสดุสิ่งของ (Material) อำนาจหน้าที่ (Authority) เวลา (Time) กำลังใจในการทำงาน (Will)
และความสะดวกต่าง ๆ (Facilities)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น